เปิดทำเนียบ 10 เศรษฐินีที่ร่ำรวยและน่าจับตามองที่สุดในขณะนี้ ทั้งหญิงเก่งที่สืบทอดและบริหารต่อยอดให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก และหญิงแกร่งที่สร้างเนื้อสร้างตัวด้วยตัวเองจนประสบความสำเร็จหลักพันล้าน ลองมาดูเรื่องราวของ #GirlBosses เหล่านี้เป็นแรงบันดาลใจ ปลุกไฟในการทำงานให้ไปถึงเป้าหมายกัน

Whitney Wolfe Herd 

ขึ้นแท่นเป็น Youngest Self-Made Billionaire คนล่าสุดเป็นที่เรียบร้อย เธอคือผู้ก่อตั้งและ CEO ของ Bumble แอพฯ เดตสำหรับผู้หญิงที่หลายคนยกให้เป็น “แอพเดตสำหรับเฟมินิสต์” ซึ่งบัมเบิลต่างจากแอพฯ เดตทั่วไปตรงที่มีฟังก์ชั่นว่าฝ่ายหญิงเท่านั้นที่จะเป็นคนเลือกทักคนที่แมตช์ไปก่อน รวมถึงยังมีโหมดอื่นๆ อย่าง Bumble BFF และ Bumble Bizz ที่เป็นการเชื่อมผู้คนเข้าด้วยกันในทิศทางของการหาเพื่อน สร้างเครือข่าย สร้างคอนเนคชั่น เป็นความสัมพันธ์ที่จริงจังมากขึ้นไม่ได้จำกัดเพียงแค่การหาคู่เดตเท่านั้น 

โดย Whitney Wolfe Herd เธอเคยเป็นหนึ่งในทีมบริหารและผู้ร่วมก่อตั้งแอพฯ เดตชื่อดังอย่าง Tinder มาก่อน แต่ในปี 2014 เธอมีปัญหาความคิดไม่ลงรอยกันกับผู้บริหารชายคนอื่นๆ และลาออกจากบริษัทพร้อมยื่นฟ้องร้องเรื่องประเด็นคุกคามทางเพศ ซึ่งเมื่อเธอลาออกมาแล้วเธอได้ก่อตั้ง Bumble โดยมี Andrey Andreev นักธุรกิจชาวรัสเซียผู้ก่อตั้งเครือข่ายหาคู่ Badoo ที่มีผู้ใช้กว่า 500 ล้านคนลงเงินทุนให้โดยที่ให้ส่วนแบ่งกับเธอด้วย

วันที่ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา Bumble ได้เปิดตัวในตลาดหุ้นของสหรัฐ และปิดตลาดด้วยราคาหุ้นละ 70.31 ดอลลาร์ ซึ่งสูงกว่าราคา IPO ที่ 43 ดอลลาร์ถึงกว่า 85% ทำให้วิทนีย์ซึ่งถือส่วนแบ่งอยู่ 11.6% นั้นนอกจากจะกลายเป็นนักธุรกิจหญิงพันล้านที่สร้างตัวด้วยตนเองแล้ว เธอยังเป็น CEO หญิงที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ที่สามารถผลักดันบริษัทเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์อีกด้วย

Kylie Jenner

ทุกวันนี้คงไม่มีใครไม่รู้จัก Kylie Jenner น้องสาวคนสุดท้องของตระกูล Kardashian-Jenner ที่นอกจากเธอจะเป็นหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลที่สุดบนโลกโซเชียลมีเดียแล้ว ทุกคนต่างรู้ดีว่าเธอยังเป็นหนึ่งในนักธุรกิจหญิงที่ร่ำรวยที่สุดตั้งแต่อายุน้อยอีกด้วย จริงอยู่ที่หลายคนอาจมองว่าก็บ้านเธอรวยอยู่แล้ว แต่ Kylie Cosmetics ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นบริษัทที่เธอก่อตั้งขึ้นมาเอง ไม่ได้รับมาจากมรดกหรือการเป็นทายาท และเธอก็ใช้ชื่อเสียงของเธอทำให้มันประสบความสำเร็จไปทั่วโลก

น่าเสียดายที่เธอหลุดจากโผมหาเศรษฐินีที่มีทรัพย์สินหลักพันล้านที่อายุน้อยที่สุดไป แต่ตัวเลขทรัพย์สินสุทธิของเธอก็เรียกได้ว่าใกล้เคียงมากอยู่ที่ 900 ล้านดอลลาร์หลังจาก Forbes ได้ทำการประเมินขนาดของธุรกิจของเธอใหม่อีกครั้งหลังจากที่ไคลี่ขายส่วนแบ่ง 51% ของ Kylie Cosmetics ซึ่งเป็นมูลค่าสูงถึง 600 ล้านดอลลาร์ให้กับบริษัท Coty, Inc. ในเดือนมกราคมปี 2021

หลังจากนั้นไม่นานโลกก็ประสบกับวิกฤติการระบาดของ COVID-19 ทำให้กิจการของไคลี่ได้รับผลกระทบจนตอนนี้ทรัพย์สินสุทธิของเธอร่วงลงมาอยู่ที่ 700 ล้านดอลลาร์ แต่ก็นับว่าเป็นตัวเลขที่มหาศาลอยู่ดี อย่างไรก็ตามหลังจากวิกฤตินี้ผ่านพ้นไป ไคลี่จะมีกลยุทธ์พลิกสถานการณ์ของบริษัทให้กลับมาบูมได้อีกครั้งอย่างไรบ้างนั้นถือเป็นเรื่องที่น่าติดตาม

Rihanna

ทุกคนรู้ แฟนคลับรู้ Rihanna เป็นแม่ค้าเต็มตัวไปแล้วและคงไม่ได้ยินเพลงใหม่จากแม่เร็วๆ นี้ เพราะถ้าการผันตัวมาเป็นนักธุรกิจหญิงจะสร้างรายได้เพิ่มให้เธออีกเป็นกอบเป็นกำขนาดนี้ เป็นเราก็คงเอาดีทางด้านนี้ให้สาแก่ใจก่อน โดยเมื่อปลายปีที่ผ่านมาริฮานนาก็ได้เข้าไปอยู่ในลิสต์ “America’s Richest Self-Made Women” ของนิตยสาร Forbes เป็นที่เรียบร้อย 

แหล่งที่มาของรายได้มหาศาลของเธอนั้นแน่นอนว่ามาจากกิจการความงาม Fenty Beauty ที่เธอได้จับมือร่วมกับ LVMH เครือสินค้าลักชัวรียักษ์ใหญ่อันดับหนึ่งของโลก ที่ทาง Forbes ประเมินว่าน่าจะทำรายได้จากการขายได้สูงถึง 600 ล้านดอลลาร์ในปี 2019 ยังไม่รวมยอดเงินที่รวบรวมจากเหล่านักลงทุนสำหรับแบรนด์ชุดชั้นใน Savage x Fenty ที่เธอเป็นเจ้าของร่วมกับบริษัท Techstyle Fashion Group อีกราวๆ 50 ล้านดอลลาร์

รวยไม่พอ เรื่องการกุศลก็ไม่ขาด ในปี 2020 ที่ผ่านมาริฮานนาก็ได้ระดมทุนเป็นเงินรวมกว่า 22.5 ล้านดอลลาร์สำหรับการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโคโรน่าไวรัส รวมถึงช่วยเหลือผู้ที่ถูกทำร้ายร่างกายในครัวเรือนของ LA ภายใต้มูลนิธิ Clara Lionel Foundation ซึ่งตั้งชื่อตามคุณตาคุณยายของเธออีกด้วย

Sheryl Sandberg

ถ้าพูดถึงเว็บไซต์โซเชียลเน็ตเวิร์กที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง Facebook หลายคนอาจนึกถึง Mark Zuckerberg ผู้ก่อตั้งและผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นอันดับแรก แต่ผู้ที่ถูกขนานนามว่าเป็นเบอร์ 2 รองจาก Mark และเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จเชิงพาณิชย์ทั้งหมดของเฟสบุ๊กก็คือ Sheryl Sandberg ผู้บริหารหญิงเจ้าของตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายปฏิบัติการ (COO) คนนี้ที่เธอได้กอบกู้บริษัทจากการขาดทุน 56 ล้านดอลลาร์ในปี 2008 สู่กำไร 1.8 ‘หมื่นล้าน’ดอลลาร์ในปี 2019 และปัจจุบันมูลค่ารวมของเฟสบุ๊กเติบโตขึ้นมาอยู่ที่กว่า 7.5 แสนล้านดอลลาร์

เชอริลคือผู้คิดค้นโมเดลธุรกิจการโฆษณาบนเฟสบุ๊ก และต่อมาก็ได้มุ่งเน้นไปที่การสร้างให้เฟสบุ๊กมีพื้นที่สำหรับธุรกิจรายย่อยจนทำให้แพลตฟอร์มนี้มีรายจากค่าโฆษณาเพิ่มขึ้น 27% จนแตะ 69.7 พันล้านดอลลาร์ในปี 2019 ซึ่งเธอเฟสบุ๊กไม่ใช่แพลตฟอร์มออนไลน์แรกที่เธอปลุกปั้นขึ้นมา แต่เธอมีผลงานในเรซูเม่สุดอลังการ นั่นคือเธอเป็นผู้คิดค้นโมเดลธุรกิจ Google Adsense ที่นำเสนอโฆษณาที่เปลี่ยนแปลงไปตามพฤติกรรมการค้นหาข้อมูลของผู้บริโภค ซึ่งสิ่งนี้สร้างกำไรให้ Google เป็นหมื่นล้านดอลลาร์หรือนับได้ว่าราวๆ 30% ของรายได้ทั้งหมดของกูเกิ้ลเลยทีเดียว

นอกจากนี้เขอริลยังมีหนังสือขายดีที่ชื่อว่า ‘Lean In’ ที่เธอเขียนจากประสบการณ์ชีวิตจริง เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้หญิงทั่วโลกที่ต้องการสร้างความก้าวหน้าในชีวิตและเป็นผู้นำในการทำงาน นอกจากนี้เธอยังฝากข้อคิด วิสัยทัศน์ และมุมมองของเธอไว้บนโลกออนไลน์อีกเพียบ ใครที่อยากประสบความสำเร็จแต่ไม่รู้จะเริ่มทางไหนบอกเลยว่าถ้าได้ลองไปดูวิดีโอหรืออ่านบทความที่เกี่ยวกับแนวคิดของเธอแล้วจะได้แรงบันดาลใจแน่นอน

Oprah Winfrey

จากเด็กฐานะยากจนและชีวิตวัยเด็กที่ขมขื่น สู่ผู้ประกาศข่าวหญิงชาวแอฟริกัน-อเมริกันคนแรก เจ้าของรายการทอล์คโชว์ที่มีเรตติ้งสูงสุด และหนึ่งในบุคคลสำคัญที่ขับเคลื่อนวงการบันเทิงของอเมริกา ทุกวันนี้โอปราห์ วินฟรีย์ได้ต่อยอดรายการ The Oprah Winfrey Show ของเธอที่ดำเนินมาอย่างยาวนานถึง 25 ปีให้กลายมาเป็นอาณาจักรธุรกิจสื่อสารมวลชนมูลค่าหลักพันล้าน

ในปี 2011 โอปราห์ได้เปิดตัวช่องทีวีของเธอเองในชื่อ OWN (Oprah Winfrey Network) ร่วมกับบริษัท Discovery Communications โดยปัจจุบันเธอถือส่วนแบ่งอยู่ที่ 25.5% ซึ่ง Forbes คาดการณ์ไว้ว่ามีมูลค่าถึง 75 ล้านดอลลาร์ เมื่อรวมกับกำไรจากทอล์คโชว์ของเธอที่ประสบความสำเร็จอย่างมากมาตลอด 25 ปีและกำไรจากภาพยนตร์ The Color Purple ที่เธอร่วมแสดงแถมถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม รวมถึงเรื่อง Beloved และ Selma ที่ถ่ายทำโดยที่มี Harpo Production บริษัทของเธอร่วมเป็นผู้สร้างด้วยก็น่าจะทำให้เธอมีทรัพย์สินรวมอยู่ที่ราวๆ 2 พันล้านดอลลาร์หลังจากหักภาษีแล้ว

นอกจากความสำเร็จในวงการบันเทิงแล้ว โอปราห์ยังมีทรัพย์สินจากอสังหาริมทรัพย์ที่เธอซื้อไว้ทั่วอเมริกาทั้งที่ซานตา บาร์บารา เมาอิ โคโลราโด และ แนชวิลล์ ซึ่งรวมแล้วเป็นมูลค่าอีกกว่า 210 ล้านดอลลาร์อย่างต่ำ นอกจากนี้ในเดือนตุลาคม 2015 โอปราห์ก็ซื้อหุ้น 10% ในราคารวมแล้ว 43 ล้านดอลลาร์ของบริษัท Weight Watchers บริษัทที่ทำโปรแกรมลดน้ำหนักที่ให้สมาชิกนับแต้มอาหารที่ทาน ซึ่งถือว่าเธอลงทุนได้ถูกเวลามากเพราะไม่กี่ปีผ่านไปเธอก็ได้กำไรถึง 8 เท่ากลายเป็นเงิน 365 ล้านเหรียญขึ้นมาทันที ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเลยที่ทำไมผู้หญิงคนนี้ถึงเป็นเศรษฐินีพันล้าน และนับว่าเป็นหนึ่งในผู้ที่มีอิทธิพลที่สุดในวงการบันเทิง

MacKenzie Scott 

เธอคือนักการกุศล นักเขียน และอดีตภรรยาของ Jeff Bezos บุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลกผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Amazon โดยในวันที่เธอหย่าร้างกับเจฟฟ์ในปี 2019 แม็คเคนซีได้รับสัดส่วน 25% ของการจัดสรรหุ้น Amazon ซึ่งนับเป็นการถือหุ้น 4% ของบริษัท โดยในปีที่ผ่านมาที่ Amazon เติบโตขึ้นอย่างมากจากการที่ผู้คนหันมาสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ในช่วงโควิด-19 ก็ทำให้เธอกลายเป็นเศรษฐินีที่มีมูลค่าทรัพย์สินมากที่สุดในโลก และในปัจจุบันเธออยู่อันดับที่ 4 ของผู้หญิงที่มีมูลค่าทรัพย์สินสูงที่สุดจากการจัดอันดับของ Forbes

การหย่าร้างกับมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดทำให้เธอมีมูลค่าทรัพย์สินมหาศาลก็จริง แต่เธอก็ไม่ใช่ว่าได้มันมาเพราะตกถังข้าวสารแต่อย่างใด เพราะแม็คเคนซีก็นับว่าเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจมาร่วมกับเจฟฟ์และยังเป็นพนักงานคนแรกๆ ของ Amazon แต่สิ่งที่สื่อทั่วโลกพากันชื่นชมยกย่องแม็คเคนซีนั้นคือการที่เธอเป็นนักการกุศลตัวยง โดยหลังจากการหย่าร้างได้ไม่ทันไร เธอก็ได้ลงนามใน The Giving Pledge โครงการที่เริ่มต้นโดย Bill และ Melinda Gates และ Warren Buffet ที่ให้มหาเศรษฐีทั่วโลกร่วมลงชื่อในการบริจาคทรัพย์สินของตัวเองอย่างน้อยครึ่งหนึ่งให้แก่การกุศล ในขณะที่สื่อก็ได้พาดพิงถึงอดีตสามีของเธอว่าทำไมถึงยังไม่ลงนามทั้งที่ก็เป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก

แม็คเคนซีได้บริจาคเงินไปแล้วเกือบ 6 พันล้านดอลลาร์ โดยเป็นการบริจาคแบบไร้เงื่อนไขและไม่ต้องการผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่หลากหลายองค์กรและมูลนิธิทั่วอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นธนาคารอาหาร สถาบันการศึกษา กลุ่มพิทักษ์สิทธิผู้อพยพ กองทุนฉุกเฉิน และโครงการต่างๆ ที่ช่วยเหลือผู้ยากจน ซึ่งเธอให้ความสำคัญและจริงจังกับเรื่องการบริจาคมากถึงกับจัดตั้งทีมขึ้นมาเพื่อคัดเลือกองค์กรที่จะนำเงินไปช่วยเหลือในโครงการต่างๆ อย่างแท้จริง

Zhou Qunfei

ถึงใครจะไม่รู้จัก โจว ฉุนเฟย แต่เชื่อว่าเกือบทุกคนต้องเคยได้สัมผัสผลิตภัณฑ์ของบริษัทเธออย่างแน่นอน เพราะเธอคือผู้ก่อตั้งและ CEO ระดับพันล้านของบริษัท Lens Technology ผู้ผลิตกระจกสำหรับอุปกรณ์เทคโนโลยีให้กับแบรนด์ระดับโลกอย่าง Samsung, Apple, Microsoft, LG และ Tesla เรียกได้ว่าหน้าจอโทรศัพท์มือถือทั้ง iPhone และ Samsung ที่ใครหลายคนใช้ต่างก็ใช้บริษัทของเธอเป็นซัพพลายเออร์นี่เอง

ในปี 2017 เธอได้รับการจัดอันดับจาก Forbes เป็นหนึ่งในผู้หญิงที่ร่ำรวยที่สุดในโลกจากการสร้างเนื้อสร้างตัวด้วยตัวเอง ถึงแม้ว่าชีวิตของเธอต้องฝ่าฟันความยากลำบากมามากมายทั้งการที่พ่อของเธอพิการทางสายตาจากอุบัติเหตุในการทำงาน และสูญเสียแม่ตั้งแต่อายุได้เพียง 5 ขวบ ต้องออกจากโรงเรียนตอนอายุ 16 เพื่อไปเป็นแรงงานอพยพในเมืองเซินเจิ้น ภายหลังเธอได้เข้าทำงานกับบริษัทที่ผลิตกระจกนาฬิกาของครอบครัวเล็กๆ แห่งหนึ่งโดยได้เงินเดือนเพียง 180 หยวนต่อเดือน ทำได้ไม่นานเธอก็ยื่นจดหมายลาออก โดยในจดหมายได้กล่าวขอบคุณบริษัทสำหรับโอกาสที่มอบให้ถึงแม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่เจ้านายของเธอประทับใจในตัวเธอจึงยื่นข้อเสนอให้เธออยู่ต่อพร้อมเลื่อนตำแหน่งให้อีกด้วย ต่อมาโรงงานผลิตเลนส์นาฬิกาปิดตัวลง โจว ฉุนเฟย จึงตัดสินใจใช้ความรู้ที่เธอสั่งสมมาตลอดการทำงานที่นั่นเริ่มธุรกิจเล็กๆ จากเงินออมของเธอและเงินสนับสนุนเล็กน้อยจากลูกพี่ลูกน้อง เปิดบริษัทผลิตเลนส์เล็กๆ ในอพาร์ตเมนท์ขนาด 3 ห้องนอนโดยเธอคุมงานเองทั้งหมดทุกขั้นตอน

เริ่มแรกโรงงานของเธอมีพนักงานไม่ถึง 10 คนซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องและญาติๆ เธอทั้งนั้น แต่ในปี 2003 หลังจากขยายธุรกิจมาเรื่อยๆ เธอก็ได้ดีลจาก Motorola ให้ผลิตหน้าจอกระจกที่ป้องกันรอยขีดข่วนให้กับโทรศัพท์รุ่นใหม่ในขณะนั้น จากนั้นเป็นต้นมาก็มีบริษัทยักษ์ใหญ่อีกจำนวนมากติดต่อเธอเข้ามาเนื่องจากผลิตภัณฑ์ของเธอมีคุณภาพ และกระจกที่เธอคิดค้นนั้นทำให้หน้าจอมือถือดูคมชัด แล้วยอดขายของเธอก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนในปี 2015 โจว ฉุนเฟยก็พา Lens Technology บริษัทที่วิจัย พัฒนา และผลิตสินค้าที่เกี่ยวกับเลนส์ของเธอเข้าตลาดหลักทรัพย์อย่างสวยงาม และเธอก็ได้กลายมาเป็นหนึ่งในผู้หญิงที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศจีน

Kiran Mazumdar-Shaw

จากผู้หญิงที่ถูกสังคมตีกรอบและไม่มีใครอยากทำงานด้วย สู่ผู้หญิงที่ร่ำรวยที่สุดของอินเดียโดยการสร้างเนื้อสร้างตัวด้วยตัวเอง Kiran Mazumdar-Shaw คือเจ้าของ Biocon บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพและการผลิตยาที่ใหญ่ที่สุดในอินเดียซึ่งได้รับความเชื่อถืออย่างมากทั้งในประเทศและระดับสากล

ความมุ่งมั่นและความเชื่อของคีรานคือการทำให้ผลิตภัณฑ์ที่สามารถช่วยชีวิตคนได้อย่างอินซูลินสำหรับผู้ป่วยเบาหวานนั้นมีราคาที่เอื้อมถึงสำหรับผู้ที่จำเป็นต้องใช้ในทุกๆ วัน แต่ก่อนบริษัทจะประสบความสำเร็จในทุกวันนี้ คีรานต้องต่อสู้กับค่านิยมทางสังคมของอินเดียนั่นคือผู้หญิงไม่ได้รับการยอมรับในการทำธุรกิจ ในอินเดียไม่มีใครเลยที่อยากทำงานกับเพศหญิงแม้แต่ผู้หญิงด้วยกันเอง การขอกู้กับธนาคารก็เป็นอุปสรรค ซัพพลายเออร์ก็ไม่ขายของให้เธอ แต่เธอก็ไม่ยอมแพ้และแก้ปัญหาด้วยการจ้างผู้ชายมาทำตำแหน่งผู้จัดการแทนโดยที่เธอเป็นผู้บริหารอยู่เบื้องหลังจนงานเดินไปได้ ต่อมาในปี 2001 บริษัทของเธอได้เป็นบริษัทแรกในอินเดียที่ได้รับการรับรองจาก FDA และหลังจากนั้นพัฒนาอย่างก้าวกระโดด

ในปี 2004 บริษัท Biocon ก็สามารถผลิตอินซูลินที่สามารถกินได้เป็นบริษัทแรกในโลกสำเร็จ ทำให้เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยเบาหวานทั่วโลก และไม่หยุดพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาชนิดอื่นๆ ในราคาที่เอื้อมถึงเพื่อผู้คนต่อไป นอกจากจะประสบความสำเร็จทางธุรกิจทำให้ปัจจุบันเธอมีมูลค่าทรัพย์สินรวมกว่า 4 พันล้านดอลลาร์แล้ว คีรานยังได้รับการยกย่องและได้รางวัลมากมายในด้านการช่วยเหลือสังคม โดยเธอมุ่งสนับสนุนด้านการศึกษาและยังได้ก่อตั้ง The Mazumdar Shaw Medical Center เพื่อพัฒนาโมเดลการรักษาโรคมะเร็งที่สามารถเข้าถึงได้และยั่งยืน

Yang Huiyan 

ลองคิดดูว่าประเทศที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลกอย่างประเทศจีน การจะขึ้นมาติดอันดับ Top 10 ของด้านใดสักอย่างจะต้องแข่งขันกับผู้คนมากมายขนาดไหน แต่จากการจัดอันดับปัจจุบัน ชื่อของ หยาง ฮุยหยาน คือผู้หญิงเพียงคนเดียวที่ติดอันดับ 10 มหาเศรษฐีที่รวยที่สุดของจีน ซึ่งก็นับว่าตอนนี้เธอคือสตรีที่รวยเป็นอันดับหนึ่งในประเทศจีนอีกด้วยโดยมูลค่าทรัพย์สินรวมของเธออยู่ที่กว่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์เลยทีเดียว

ความร่ำรวยของเธอส่วนหนึ่งมาจากการถือหุ้น 57% ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ชื่อดังในจีนอย่าง Country Garden Holdings ซึ่งพ่อของเธอเป็นคนก่อตั้งและค่อยๆ ขยายธุรกิจมาเรื่อยๆ ตั้งแต่เธอยังเด็ก โดยที่หยาง ฮุยหยานก็มีความสนใจในธุรกิจของพ่อตั้งแต่สมัยวัยรุ่นแล้ว เธอเรียนรู้การบริหารและเข้าร่วมประชุมตั้งแต่นั้นมา ต่อมาเธอไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยโอไฮโอ และเมื่อจบแล้วเธอก็เริ่มเข้าทำงานในบริษัทของพ่อเธออย่างจริงจัง และในปี 2005 พ่อของเธอก็โอนหุ้นและทรัพย์สิน 70% ให้เธอและพา Country Garden Holdings เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง และหลังจากเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ได้ไม่กี่ปี ฮุยหยานก็กลายเป็นผู้หญิงที่ร่ำรวยที่สุดในจีนด้วยวัยเพียง 25 เท่านั้น

อาจจะฟังดูเหมือนชีวิตปูทางสวยหรูไว้ให้เธอเรียบร้อย แต่จริงๆ แล้วตอนที่เธอเริ่มเข้ามาทำงานในบริษัทของพ่อนั้นเธอเริ่มเข้ามาในตำแหน่งพนักงานผู้จัดการ ก่อนจะไต่เต้าขึ้นมาเรื่อยๆ จนเป็น Executive Director จากนั้นเป็น Vice Chairman และเป็น Co-Chairman ในที่สุดเมื่อปี 2018 ช่วยกันบริหารร่วมกันกับพ่อของเธอจนถึงปัจจุบัน

Françoise Bettencourt Meyers

ถ้าพูดถึงบริษัทความงามยักษ์ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกที่เชื่อว่าไม่มีใครไม่รู้จักชื่อ L’Oréal อย่างแน่นอน ปัจจุบันฟรองซัวส์ เบตตองกูรต์ เมแยร์ส คือทายาทหญิงผู้สืบทอดอาณาจักรความงามนี้มาจากแม่ของเธอ โดยครอบครัวของเธอถือหุ้นของลอรีอัลอยู่ 33% ทำให้ในปี 2019 เธอก็ขึ้นแท่นเป็นผู้หญิงที่รวยที่สุดในโลกจากการจัดอันดับของ Forbes และปัจจุบันมีมูลค่าทรัพย์สินรวมอยู่กว่า 7 หมื่นล้านดอลลาร์

ถึงแม้จะเป็นธุรกิจของครอบครัว และการที่เธอเป็นหนึ่งในผู้หญิงที่ร่ำรวยที่สุดนี้จะมาจากการได้รับมรดกต่อจากแม่ แต่ฟรองซัวส์ก็นั่งทำงานในฐานะบอร์ดบริหารของลอรีอัลมาตั้งแต่ปี 1997 และผลการดำเนินธุรกิจของอาณาจักรความงามนี้ก็ค่อยๆ เติบโตและยิ่งใหญ่ขึ้นมาตลอดมากกว่า 10 ปีแล้ว ประกอบกับแบรนด์ลูกในเครือที่แข็งแรงและเป็นแบรนด์ชั้นนำในตลาดความงามอย่างเช่น Lancome, Biotherm, Kiehl’s, Kérastase, The Body Shop, Maybelline และอื่นๆ อีกมากมายก็เป็นผลให้ลอรีอัลเป็นเครือเครื่องสำอางที่ใหญ่ที่สุดในโลก

เมื่อเดือนเมษายนปี 2019 ตระกูลเบตตองกูร์ เมแยร์ส และลอรีอัลก็ได้ร่วมบริจาคเงินเป็นจำนวนกว่า 226 ล้านดอลลาร์ในการช่วยเหลือบูรณะวิหาร Notre Dame ที่ถูกไฟไหม้เพื่อเป็นการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมสำคัญของฝรั่งเศสอีกด้วย

Source: Forbes, Marketeeronline, Diyinspirenow

SHARE

By : TANANYA CHOTIVORRAVAT

Deputy Head of Content

SHARE